ผู้สนับสนุน/ที่ปรึกษา | |
---|---|
นายจารึก ไชยประภา | หัวหน้าฝ่ายสำรวจและออกแบบ รักษาราชการแทน ผู้อำนวยการกองผังเมือง |
นายณรงค์ อุทัยรัตน์ | นายช่างโยธาชำนาญงาน รักษาการในตำแหน่งหัวหน้าฝ่าย ปฏิบัติการผังเมือง |
นางสาวมลธุดา อุ่ยยก | นักผังเมืองปฏิบัติการ |
นางสาวผกานันท ช่วยอ่อน | นักผังเมืองปฏิบัติการ |
นางสาวอภิญญา เพอแสละ | นักผังเมืองปฏิบัติการ |
ผู้พัฒนาและดูแลระบบ | |
---|---|
นายอารี มะโซะ | นักวิชาการคอมพิวเตอร์ปฏิบัติการ |
ตามพระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. 2518 และแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. 2558 มาตรา 26 กำหนดให้กรมโยธาธิการและผังเมืองหรือเจ้าพนักงานท้องถิ่น แล้วแต่กรณี จัดทำรายงานการประเมินผลการเปลี่ยนแปลงสภาพการณ์และสิ่งแวดล้อมในการใช้บังคับตามระยะเวลาที่คณะกรรมการผังเมืองกำหนด แต่ไม่เกิน 5 ปี นับแต่วันที่กฎกระทรวงผังเมืองรวมใช้บังคับ หากคณะกรรมการผังเมืองเห็นว่าสภาพการณ์และสิ่งแวดล้อมมีการเปลี่ยนแปลงในสาระสำคัญทำให้ผังเมืองรวมไม่เหมาะสมที่จะรองรับการพัฒนาหรือดำรงรักษาเมืองต่อไป จึงให้กรมโยธาธิการและผังเมืองหรือเจ้าพนักงานท้องถิ่นดำเนินการปรับปรุงผังเมืองรวมให้สอดคล้องกับศักยภาพของพื้นที่เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาเมืองทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม
องค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา ได้รับการถ่ายโอนภารกิจการวางและปรับปรุงผังเมืองรวมในพื้นที่จังหวัดสงขลา จำนวน 3 ผัง ประกอบด้วย ผังเมืองรวมเมืองสงขลา ผังเมืองรวมเมืองหาดใหญ่ และผังเมืองรวมชุมชนท่าเรือน้ำลึกสงขลา จังหวัดสงขลา โดยในแต่ละปีงบประมาณ องค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลาได้ตั้งงบประมาณร่ายจ่ายประจำปี เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายดำเนินการสำรวจและจัดทำข้อมูลการใช้ประโยชน์อาคารตามโครงการติดตามและประเมินผลผังเมืองรวม อันเป็นกระบวนการหนึ่งของการติดตามการเปลี่ยนแปลงสภาพการณ์และสิ่งแวดล้อมในเรื่องการใช้ประโยชน์ที่ดิน และเมื่อโครงการแล้วเสร็จ ข้อมูลดังกล่าวยังขาดกระบวนการบริหารจัดการฐานข้อมูลให้เกิดประสิทธิภาพ และปริมาณข้อมูลมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่องในทุกปี
องค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา ในฐานะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีภารกิจรับผิดชอบด้านผังเมือง จึงมีแนวคิดในการนำเทคโนโลยีสารสนเทศภูมิศาสตร์ (GIS) มาประยุกต์ใช้พัฒนาเป็นระบบฐานข้อมูลเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการข้อมูลด้านการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดิน ประกอบการจัดทำรายงานการประเมินผลผังเมืองรวมตามระยะเวลาที่คณะกรรมการผังเมืองกำหนด แต่ไม่เกิน 5 ปี นับแต่วันที่กฎกระทรวงประกาศใช้บังคับในแต่ละผัง เพื่อพิจารณาการเปลี่ยนแปลงในสาระสำคัญสำหรับเสนอให้แก้ไขปรับปรุงหรือจัดทำผังขึ้นใหม่ตามความเหมาะสมต่อไป
1. เพื่อพัฒนาระบบฐานข้อมูลสำหรับติดตามการใช้ประโยชน์ที่ดินในเขตผังเมืองรวมชุมชนท่าเรือ น้ำลึกสงขลา จังหวัดสงขลา โดยใช้ข้อมูลภาคสนามจากการจ้างลงพื้นที่สำรวจและจัดทำข้อมูลด้านการใช้ประโยชน์อาคารตามโครงการติดตามและประเมินผลผังเมืองรวม ที่กองผังเมืองเป็นผู้รับผิดชอบ
2. เพื่อพัฒนาระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (GIS) สำหรับประเมินผลด้านการใช้ประโยชน์ที่ดินในเขตผังเมืองรวมชุมชนท่าเรือน้ำลึกสงขลา จังหวัดสงขลา
3. เพื่อเผยแพร่ข้อมูลด้านการใช้ประโยชน์ที่ดินในเขตผังเมืองรวมชุมชนท่าเรือน้ำลึกสงขลา จังหวัดสงขลา ในเว็บไซต์ระบบติดตามและประเมินผลการใช้ประโยชน์ที่ดินในเขตผังเมืองรวม องค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา