ที่ตั้งโครงการ
เขตเทศบาลนครหาดใหญ่และพื้นที่ต่อเนื่องในการดำเนินโครงการรถไฟฟ้ารางเดี่ยว (Monorail) สายคลองหวะ – สถานีรถตู้ ระยะทาง 12.54 กิโลเมตร
แนวเส้นทาง
มีแนวเส้นทางเริ่มต้นจากสถานี คลองหวะ โดยโครงสร้างทางวิ่งเป็นแบบยกระดับ อยู่บนเกาะกลางถนนกาญจนวนิชจนถึงบริเวณแยกคอหงส์ ต่อจากนั้นมุ่งไปตามแนวถนนเพชรเกษมจนถึงสถานีรถตู้ มีระยะทางรวม 12.54 กม. จำนวนสถานีทั้งสิ้น 12 สถานี ประกอบด้วย

1. สถานีคลองหวะ
2. สถานีขนส่งหาดใหญ่
3. สถานีคลองเรียน
4. สถานี ม.อ.
5. สถานีคอหงส์
6. สถานีราษฎร์ยินดี
7. สถานีหาดใหญ่วิทยาลัย
8. สถานีน้ำพุ
9. สถานีตลาดกิมหยง
10. สถานีชุมทางรถไฟหาดใหญ่
11. สถานีหาดใหญ่ใน
12. สถานีรถตู้

จุดเปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่ง
จัดให้มีจุดเปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่ง เพื่อรองรับการเดินทางจากพื้นที่โดยรอบของเมืองหาดใหญ่ และจังหวัดใกล้เคียง จำนวน 3 แห่ง ได้แก่
1. บริเวณสถานีคลองหวะ
2. สถานีคอหงส์
3. สถานีรถตู้

นอกจากนี้ บริเวณสถานีคลองหวะยังได้พัฒนาพื้นที่เป็นโรงจอดและศูนย์ซ่อมบำรุง (Depot) รวมถึงการเป็นศูนย์ควบคุมการเดินรถไฟฟ้าของโครงการฯ

ประมาณการผลตอบแทนทางการเงินและเศรษฐศาสตร์ของโครงการ

1) ประมาณการผลตอบแทนทางการเงิน (Project Internal Rate of Return) ในกรณีต่างๆ ดังนี้

– กรณีรัฐลงทุนทั้งหมดและดำเนินโครงการเอง โดยมีอัตราผลตอบแทนทางการเงิน ร้อยละ -7.96

– กรณีการใช้งบประมาณของหน่วยงานของรัฐกับการให้เอกชนร่วมลงทุน โดยรัฐเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุง       ด้านโครงสร้างพื้นฐานและงานโยธาประจำปี และเอกชนลงทุนในส่วนการติดตั้งระบบควบคุมชานชาลา การติดตั้งระบบจำหน่ายตั๋วโดยสาร การจัดหารถไฟฟ้า รวมถึง          การให้บริการเดินรถและรับผิดชอบค่าใช้จ่ายส่วนที่เหลือในการดำเนินโครงการ โดยมีอัตราผลตอบแทนทางการเงิน        ร้อยละ 9.14

– ประมาณการผลตอบแทนทางเศรษฐศาสตร์ (Economic Internal Rate of Return) ร้อยละ 17.63

การดำเนินงานโครงการ

1. จ้างที่ปรึกษาศึกษาออกแบบระบบขนส่งมวลชนโดยระบบราง อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา

ปีงบประมาณ พ.ศ. 2557
องค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา ได้ว่าจ้าง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เป็นที่ปรึกษา ดำเนินการศึกษาออกแบบระบบขนส่งมวลชนโดยระบบราง อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา โดยได้ดำเนินการศึกษาออกแบบเสร็จเรียบร้อยแล้ว
องค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลาได้ดำเนินการจัดส่งรายงานผลประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการฯ (EIA) ให้สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) พิจารณา
สรุปรายละเอียดการดำเนินงาน ดังนี้

1) เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2559 ประชุมคณะกรรมการ ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์สิ่งแวดล้อมด้านโครงสร้างพื้นฐาน ทางบกและอากาศ ครั้งที่ 21/2559
2) เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2556 ประชุมคณะกรรมการ ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์สิ่งแวดล้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานทางบกและอากาศ ครั้งที่ 10/2561
3) เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2562 ประชุมคณะกรรมการ ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์สิ่งแวดล้อมด้านโครงสร้างพื้นฐาน ทางบกและอากาศ ครั้งที่ 10/2562
4) เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2563 ประชุมคณะกรรมการ ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์สิ่งแวดล้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานทางบกและอากาศ ครั้งที่ 21/2563
องค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา ดำเนินการปรับปรุงแก้ไขข้อมูล ในรายงานการประเมินผลกระทบของโครงการฯ ตามความเห็นของคณะกรรมการผู้ชำนาญการฯ ครั้งที่ 21/2563 เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2563 และได้ส่งให้สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) พิจารณา ต่อไป

2. จ้างที่ปรึกษาจัดทำ รายงานผลการศึกษาและวิเคราะห์ โครงการระบบขนส่งมวลชนโดยระบบราง อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ตามพระราชบัญญัติ การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556

ปีงบประมาณ พ.ศ. 2561
องค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลาได้ดำเนินการจัดทำรายงาน ผลการศึกษาและวิเคราะห์โครงการฯ ตามพระราชบัญญัติการวมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562
สรุปรายละเอียดการดำเนินงาน ดังนี้
1) เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2562 องค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา ได้ส่งผลการศึกษาและวิเคราะห์โครงการฯ ตามพระราชบัญญัติการ ให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 เพื่อให้จังหวัดสงขลาเสนอต่อกระทรวงมหาดไทย ก่อนเสนอต่อสำนักงานคณะกรรมการ นโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) พิจารณาฯ
2) เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2562 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้พิจารณาให้ความเห็นชอบในหลักการรายงานผลการศึกษาและวิเคราะห์โครงการฯ และนำส่งให้ สคร. พิจารณา ซึ่ง สคร. ให้ปรับแก้รายงานให้สอดคล้องกับรายละเอียดของพระราชบัญญัติการร่วมทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562
3) เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2562 องค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลาได้ส่งรายงานผลการศึกษาและวิเคราะห์โครงการฯ เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2563 ส่งหลักการของโครงการร่วมลงทุน (เพิ่มเติม) เพื่อให้จังหวัดสงขลาเสนอต่อกระทรวงมหาดไทยพิจารณาให้ความเห็นชอบตามมาตรา 28 แห่งพระราชบัญญัติการวมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562
4) เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2563 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้พิจารณาให้ความเห็นชอบในหลักการของโครงการร่วมทุนและรายงานผลการศึกษา ตามที่เสนอและขอให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลาดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี ระเบียบ และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
5) เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2563 องค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา เสนอหลักการของโครงการร่วมทุนและรายงานผลการศึกษาต่อ สคร. เพื่อประกอบการพิจารณาของคณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ
6) เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2563 สคร. ขอให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลาส่งข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวโครงการฯ และเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2563 องค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลาได้ส่งข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวโครงการฯ ให้แก่ สคร. ก่อนเสนอคณะกรรมการนโยบายฯ เพื่อเห็นชอบในหลักการของโครการร่วมลงทุนในขั้นตอนต่อไป
7) เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2564 ได้มีการประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2564 ณ ทำเนียบรัฐบาล เพื่อชี้แจงและให้ความเห็นในส่วนที่เกี่ยวข้อง ที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้หน่วยงานเจ้าของโครงการดำเนินการตามมาตราการทางสิ่งแวดล้อมที่เสนอไว้และคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติจะเสนอโครงการให้คณะรัฐมนตรีอนุมัติต่อไป
8) เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2564 ได้มีการประชุมหารือเกี่ยวกับโครงการระบบขนส่งมวลชนโดยระบบราง ณ สำนักงานคณะกรรมการ นโยบายรัฐวิสาหกิจ เพื่อชี้แจงรายละเอียดโครงการให้ชัดเจน ครบถ้วน เพียงพอต่อการนำเสนอคณะกรรมการนโยบายฯ เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบหลักการของโครงการฯ ตามมาตรา 29 แห่งพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 ในขั้นตอนต่อไป โดยที่ประชุมให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดสอบถาม
ข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
1. สำนักงานคณะกรรมการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่น
2. สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน
3. สำนักงานนโยบายและแผนการการขนส่งและจราจร
โดยให้ดำเนินการสอบถามในประเด็นต่างๆ ดังนี้
1) อำนาจและหน้าที่ตามกฎหมายโดยหารือร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการกระจายอำนาจฯ
2) ความเหมาะสมของการเสนอโครงการในรูปแบบโมโนเรล สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร
3) ข้อมูลทางเทคนิคของระบบไฟฟ้า จัดทำร่วมกับสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร
4) การวิเคราะห์ทางด้านการเงินของโครงการฯ
5) ความพร้อมด้านการเงินขององค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา ในการสนับสนุนโครงการฯ
6) ความพร้อมด้านที่ดิน โดยขอให้จัดทำแผนการดำเนินงานเวนคืนที่ดินที่สอดคล้องกับแผนการส่งมอบพื้นที่ให้แก่เอกชน
7) ข้อมูลโครงการด้านคมนาคม

ตามที่องค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา ได้มีหนังสือขอความอนุเคราะห์ข้อมูลเพิ่มเติมจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร , กรมทางหลวง , สำนักงานคณะกรรมการการกระจายอำนาจฯ และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ปัจจุบันได้รวบรวมข้อมูลจากหน่วยงานดังกล่าวครบแล้ว พร้อมทั้งประสานมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (ที่ปรึกษาโครงการ) เพื่อจัดทำข้อมูลเพิ่มเติมโครงการระบบขนส่งมวลชนโดยระบบรางฯ ให้มีความครบถ้วน สมบูรณ์ตามความเห็นของที่ประชุมสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2564 โดยให้จัดส่งให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา ภายในวันที่ 30 พฤษภาคม 2564
– เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2564 องค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา ได้นำส่งข้อมูลเพิ่มเติมโครงการระบบขนส่งมวลชนโดยระบบราง จากการ ประชุมหารือ เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2564 ให้แก่สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจเรียบร้อยแล้ว

3. ก่อสร้างระบบขนส่งมวลชนโดยระบบราง อำเภอหาดใหญ่ จังหวัด สงขลา

มูลค่าก่อสร้างโครงการฯ ประกอบด้วย
1) ค่าออกแบบรายละเอียด
2) ค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินและค่าชดเชยสิ่งปลูกสร้าง
3) ค่าควบคุมงานก่อสร้าง
4) ค่าก่อสร้างงานโครงสร้างพื้นฐานและงานโยธา
5) ค่าติดตั้งงานระบบรถไฟฟ้า
6) จัดหารถไฟฟ้า ตลอดอายุโครงการ

แผนที่แสดงที่ตั้งโครงการ